วันศุกร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2556


นวัตกรรมการศึกษา


     บทเรียนโปรแกรมหมายถึง การจัดระบบการเรียนการสอนที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนประกอบกิจกรรมการเรียนด้วยตนเองตามเนื้อหา ซึ่งจัดไว้เป็นขั้นตอนเล็ก ๆ ผู้เรียนมีโอกาสประเมินผลการเรียนรู้ด้วยตนเอง ด้วยการดูจากผลสะท้อนกลับอยู่เสมอ และบางครั้งก็อาจจะได้รับความรู้เพิ่มเติมในเนื้อหาที่นักเรียนยังมีความรู้ไม่ดีพอ ผู้เรียนจะเลือกเรียนได้ตาม ความสนใจ และก้าวไปตามความสามารถของแต่ละคน (รศ.ดร.ชัยยงค์ พรหมวงศ์)
     บทเรียนโปรแกรม เป็นการจัดระบบการเรียนการสอนให้ผู้เรียนได้เรียนตามความสามารถของตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งผู้ผลิตบทเรียนโปรแกรมอาจจะสร้างออกมาในลักษณะของเครื่องมือที่เรียกว่า เครื่องช่วยสอน หรือในลักษณะของตำรา หนังสือ หรือแบบเรียน ก็เรียกว่า แบบเรียนโปรแกรม หรืออาจจะสร้างในลักษณะอื่น ๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในการใช้งาน
บทเรียนโปรแกรม เป็นระบบการเสนอบทเรียนอย่างมีระเบียบ ทีละเล็กทีละน้อยแก่ผู้เรียน บทเรียนแต่ละตอน จะมีเรื่องที่จะให้ผู้เรียนเรียนรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ และจะมีปัญหาถามเกี่ยวกับเรื่องนั้นโดยตรง เพื่อให้ผู้เรียนตอบปัญหานั้น จากนั้นก็จะเฉลยคำตอบที่ถูกเกี่ยวกับเรื่องนั้น
      หลักการของบทเรียนโปรแกรม 1. เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมอย่างกระฉับกระเฉง (Active Participation) การที่นักเรียนได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมยิ่งมาก ยิ่งส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้มากขึ้น
2. ให้ทราบผลการเรียนของตนเองอย่างทันทีทันใด (Immediated Feed Back) เป็นการให้ข้อมูลย้อนกลับแก่ผู้เรียนทันที ว่าสิ่งที่ผู้เรียนทำนั้นถูกหรือผิด
3. ประสบการณ์แห่งความสำเร็จ (Sucess Experience) เมื่อเรียนจบแต่ละขั้นตอนที่สำคัญ ครูควรให้การเสริมแรง (Reinfocement)แก่ผู้เรียนเพราะจะเป็นการกระตุ้นให้ผู้เรียนรู้สึกภูมิใจ และต้องการเรียนต่อไป
4. การประมาณทีละน้อย (Gradual Approximation) เป็นการจัดลำดับขั้นตอนของเนื้อหา ให้เหมาะสมกับความสามารถของผู้เรียน 
      ลักษณะของบทเรียนโปรแกรม 1. แบ่งเนื้อหาออกเป็นส่วนย่อย ๆ เรียกว่า กรอบ แต่ละกรอบมีคำอธิบายและคำถาม ให้ผู้เรียนได้ตอบ และเรียงลำดับเนื้อหาอย่างต่อเนื่อง เมื่อผู้เรียนตอบเสร็จในแต่ละกรอบจะทราบผลทันที การเรียนดำเนินไปทีละขั้น มีกรอบสำหรับฝึกหัดทบทวน และทดสอบให้ผู้เรียนเข้าใจยิ่งขึ้น
2. การเรียนไม่จำกัดเวลา ผู้เรียนเรียนได้ตามความสามารถของตนเอง นอกจากนี้บทเรียนโปรแกรมจะต้องมีการวางวัตถุประสงค์ไว้อย่างชัดเจน ระบุการกระทำที่สังเกตได้สามารถวัดผลได้อย่างแม่นยำ และก่อนที่จะนำบทเรียนโปรแกรมมาใช้ได้ จะต้องผ่านการทดลองใช้ และแก้ไขปรับปรุงส่วนที่เป็นปัญหา จนได้ประสิทธิภาพตามเกณฑ์ที่ได้ตั้งไว้ และลักษณะของบทเรียนโปรแกรมจะค่อย ๆ เพิ่มพูนประสบการณ์การเรียนรู้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามลำดับที่ผู้สร้างได้กำหนดเอาไว้
      ชนิดของบทเรียนโปรแกรม
1. บทเรียนโปรแกรมแบบเส้นตรง ( Linear Programmed ) ลัีกษณะบทเรียนจะเรียงตามลำดับของกรอบออกเป็นชั้น ๆ จากง่ายไปหาี่ยาก ให้ผู้เรียนค่อย ๆ เรียนจากสิ่งที่ง่ายไปสู่ที่ยาก จากสิ่งที่รู้แล้วไปสู่สิ่งที่ไม่รู้ จากกรอบที่ 1ไปสู่กรอบที่ 2 ที่ 3 ไปเรื่อย ๆ โดยมีข้อแม้ว่า ก่อนที่จะเรียนในกรอบที่ 2 นั้นผู้เรียนต้องตอบคำถามในกรอบที่ 1 ให้ถูกต้องเสียก่อน จึงจะเรียนในกรอบที่ 2 ได้ ในกรอบถัดไปก็เช่นกัน จะข้ามกรอบใดกรอบหนึ่งไม่ได้ เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจในสิ่งแรกที่เป็นพื้นฐานก่อน ก้าวไปสู่ความรู้ใหม่
2. บทเรียนโปรแกรมแบบสาขา ( Branching Programmed)บทเรียนจะแตกต่างจากแบบแรก คือการเรียนจะไม่ดำเนินตามลำดับ ผู้เรียนอาจย้อนไปมาในหน่วยย่อยต่าง ๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้เรียนเอง หากผู้เรียนตอบคำถามไม่ถูกต้อง อาจสั่งให้ผู้เรียนกลับไปเรียนในข้อความย่อย ๆ อื่นเพิ่มเติม ในข้อความย่อยนั้นจะมีคำชี้แจงว่าคำตอบของผู้เรียนไม่ถูกต้องนั้นเพราะอะไร และมีคำขยายความให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น ลักษณะคำถาม นิยมเป็นแบบเลือกตอบซึ่งบทเรียนโปรแกรมแบบสาขา เหมาะสำหรับห้องเรียนที่ผู้เรียนมีความสามารถในการรับรู้ หรือประสบการณ์เดิมแตกต่างกัน ผู้ที่เรียนเร็วสามารถเรียนโดยใช้เวลาไม่มากนัก และควรมีกิจกรรมเสริมหรือเนื้อหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่สำหรับผู้ที่เรียนช้า หรือประสบการณ์เดิมน้อย ต้องเรียนซ่อมเสริมอีกเพื่อให้เรียนรู้ได้ทันกับผู้ที่เรียนเร็ว แต่อาจใช้เวลา มากกว่า จะเห็นได้ว่าบทเรียนโปรแกรมสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนอย่างเป็นขั้นตอน และเป็นระบบ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผู้สร้างบทเรียน ต้องฝึกฝน ค้นคว้า และหารูปแบบของบทเรียนโปรแกรมที่มีประสิทธิภาพ และน่าสนใจ ได้มากเพียงใด
      ข้อจำกัดของบทเรียนโปรแกรม
1. บทเรียนโปรแกรมเหมาะสำหรับเนื้อหาที่เป็นความจริง หรือความรู้พื้นฐานมากกว่าเนื้อหาที่ต้องการความคิดเห็นและความคิดริเริ่ม หรือมีความลึกซึ้งมาก ๆ
2. มีส่วนทำให้ผู้เรียนขาดทักษะในการเขียนหนังสือ เพราะผู้เรียนจะเขียนเฉพาะคำตอบเป็นบางคำเท่านั้น
3. ผู้เรียนขาดการสังคมติดต่อซึ่งกันและกัน
4. ภาษาที่ใช้อาจเป็นปัญหา สำหรับในบางท้องถิ่น
5. มีส่วนทำให้เด็กที่เรียนเก่งเบื่อหน่าย โดยเฉพาะบทเรียนโปรแกรมแบบเชิงเส้น
6. บทเรียนโปรแกรมแบบสาขา เขียนให้ดีค่อนข้างยาก